การตั้งกองทุนฟื้นฟูอาชีพผู้ป่วยทางจิตเวชในภาคเหนือ

การตั้งกองทุนฟื้นฟูอาชีพผู้ป่วยทางจิตเวชในภาคเหนือ

ผู้ป่วยจิตเวชที่มีการประเมินจากแพทย์ว่า มีอาการป่วยมากจนถึงขั้นพิการ แพทย์จะออกใบรับรองความพิการให้ หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการขอขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการ(ทางจิตใจหรือพฤติกรรม) และจะมีสิทธิ์รับความช่วยเหลือจากกองทุนส่งเสริมและสนับสนุนคนพิการ รับเบี้ยความพิการได้เดือนละ ๕๐๐ บาท คนพิการหรือผู้ดูแลสามารถใช้สิทธิ์กู้ยืมเงินจากกองทุนฯครั้งละไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาทเพื่อใช้ลงทุนประกอบอาชีพโดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย และยังมีสิทธิ์เข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือในการประกอบอาชีพจากสถานประกอบการตามมาตรา ๓๓ ๓๔ และ ๓๕ ของพรบ.ฟื้นฟูคนพิการพ.ศ. ๒๕๓๕ อีกด้วย

แต่ผู้ป่วยทางจิตเวชส่วนใหญ่จะยังไม่ถูกประเมินให้เป็นคนพิการ พูดง่ายๆก็คือยังเป็นสีเทาๆ ไม่ใช่สีดำอย่างพวกข้างต้น จึงไม่มีสิทธิ์เข้าถึงความช่วยเหลือใดๆเป็นพิเศษ ต้องทำมาหากินแข่งขันกับคนทั่วๆไป แต่ก็สู้คนอื่นๆที่เขาไม่เจ็บไม่ป่วยไม่ได้ มีบ้างที่ไปรับจ้างทำงาน ส่วนใหญ่ทำไร่ทำนา เร่ขายของกินของใช้เล็กๆน้อยๆ ช่วยครอบครัวทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ชุมชนของตนเอง คนพวกนี้มักหาแหล่งทุนกู้ยืมยาก จึงเป็นที่มาของโครงการตั้งกองทุนฟื้นฟูอาชีพผู้ป่วยทางจิตเวช

มูลนิธิแก้ว - อรุณเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ริเริ่มชักชวนให้ชมรมเครือข่ายเพื่อการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในภาคเหนือจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูอาชีพครอบครัวผู้ป่วยทางจิตเวช(และผู้ด้วยโอกาสในชุมชน)ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ๒๕๕๓ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

- เป็นการริเริ่มของผู้คนในชุมชน - - ผู้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการระดมทุนตั้งกองทุน และร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการของกองทุน - เป็นกองทุนให้ครอบครัวผู้ป่วยฯและคนด้อยโอกาสยืมไปประกิบอาชีพ และต้องผ่อนชำระคืนตามข้อบังคับของกองทุนฯ - มูลนิธิแก้ว - อรุณฯจัดงบประมาณเข้าสมทบให้กองทุน

ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๗) มีกองทุนอยู่ในจังหวัดต่างๆดังนี้

- จังหวัดกำแพงเพชร ๑ กองทุน - จังหวัดเชียงใหม่ ๔ กองทุน - จังหวัดแพร่ ๒ กองทุน - จังหวัดพะเยา ๑ กองทุน - จังหวัดเพชรบูรณ์ ๑ กองทุน - จังหวัดสุโขทัย ๕ กองทุน

พ.อ.จรัส ลิ่มอรุณ / ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๗

Copyright © 2013 San Sum Pan All rights reserved www.sansumpan.com Powered by CMNice Solutions.